วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

S&P ชื่อนี้มีเเต่ของอร่อย



"ชื่อนี้มีแต่ของอร่อย" หากพูดแบบนี้แล้วน้อยคนนักที่จะไม่นึกถึง ร้านอาหารไทยที่มีชื่อว่า S&P แต่หากมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2516 ปีที่บริษัทนี้พึ่งเริ่มก่อตั้ง โดย 2 พี่น้องตระกูล ไรวา และ ศิลาอ่อน จุดเริ่มต้นของ Brand เริ่มขึ้นด้วยธุรกิจร้านไอศครีมเล็กๆในซอยประสานมิตร โดยในวันแรกนั้นทางร้านเองขายได้ทั้งหมด 300 บาท ผ่านมา 35 ปี ในปี 2551 ที่ผ่านมานั้น 4,437 ล้านบาท คือตัวเลขกำไรจากทั้งหมดที่ได้ในปีนั้น ใช่ครับ 4 พันล้านบาท โดย S&P ในปัจจุบันนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ร้านขายไอศครีมเหมือนอย่างในสมัยก่อนอีกแล้ว แต่ปัจจุบัน S&P ภายใต้บริษัท S&P Syndicate Public เป็นบริษัทในเครือกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีธุรกิจมากมายที่ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจำแนกเป็นหมวดหมู่ดังนี้ หมวดแรก ร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ในประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ร้าน คือ ร้านอาหาร S&P ที่ขายอาหารไทยเป็นหลัก ร้านอาหาร Patio ที่ขายอาหารร่วมสมัยไทย-ฝรั่ง ร้านอาหาร Patara ร้านขายอาหารไทยที่รองรับตลาดบน ร้านอาหาร Vanilla Industry ที่เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ ร้านอาหารมังกรทอง ที่ขายอาหารจีน และ ร้านกาแฟ Bluecup ส่วนหมวดต่อมานั้นคือหมวด ร้านอาหารในต่างประเทศ ซึ่งได้เปิดตัวครั้งแรกที่ London ประเทศอังกฤษในปี 2533 โดยในปัจจุบัน มีทั้งหมด 21 สาขา ใน 5 ประเทศ โดยชื่อที่ใช้นั้นก็มีมากมายหลายชื่อ เช่น Patara, Siam Kitchen, Thai และ Patio ส่วนในหมวดต่อมานั้นคือหมวดของ ผลิตภัณฑ์และสินค้าอื่นๆ เช่น สินค้าเบเกอรี่ภายใตชื่อ Delio สินค้าไส้กรอกสำเร็จรูป ในชื่อ S&P และสินค้าอาหารแช่แข็งในชื่อ Quick Meal เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว S&P ยังมีบริการอื่นๆอีก เช่น บริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ บริการส่งอาหารถึงบ้าน(Delivery) เป็นต้น ซึ่งนอกจากสินค้าของตัวเองแล้ว ทาง S&P เอง ยังได้มีการร่วมมือกับบริษัท Haagen-Dazs ในการนำเอาไอศรีมตัวนี้มาขายในเมืองไทยอีกด้วย นอกเหนือจากนั้นยังมีการร่วมมือกับบริษัท ซานอตติ ในธุรกิจจัดส่ง Pizza ภายใต้ชื่อ พิซซ่านอตติ ซึ่งจากกลุ่มธุรกิจมากมายนี้ สามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงความแข็งแกร่งของ Brand S&P ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆจนกลายเป็นธุรกิจใหญ่โตได้ในปัจจุบัน


วิเคราะห์ Brand ผ่าน Brand Equity Model ของ David Aeker

Awareness
การสร้างการรับรู้ใน Brand S&P นั้น อยู่ในระดับสูงสุดหรือ Top of Mind เห็นได้จากการได้รับรางวัล Super Brands ในปี 2005 โดยเป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นถึงความยอดนิยมของ Brand S&P ได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากนั้น S&P ยังได้ทำการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อมากมายเช่น สื่อ TVC ผ่าน Slogan “ชื่อนี้มีแต่ของอร่อย” ที่เป็นที่ติดปากของคนทั่วไป หรือกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ทั้งตามเทศกาลและนอกเหนือจากเทศกาลเช่น เทศกาลอาหารเจ เทศกาลตรุษจีน และกิจกรรมนอกเหนือจากเทศกาลเช่น ซื้อ Pie 2 แถม 1 หรือ Blue Cup Day เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมส่งเสริมการขายที่มีนั้นจัดเป็นตัวเรียกลูกค้าได้เป็นอย่างดีเพราะว่ากิจกรรมส่งเสริมการขายนี้จะจัดอยู่บริเวณหน้าร้าน ซึ่งทำให้บุคคลที่เดินผ่านไปมาเห็นได้โดยง่าย ซึ่งจัดว่าเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีเลย



Brand Loyalty
ปัจจัยในด้านความจงรักภักดีใจ Brand S&P นั้นเกิดขึ้นจากประสบการณ์หลังจากที่ได้รับจากการสัมผัสถึงความเป็น Brand ผ่านจุดสัมผัสมมากมายที่ Brand ได้สร้างไว้ เช่น บรรยากาศภายในร้าน การบริการอันดีเยี่ยมของพนักงาน และที่สำคัญคือคุณภาพของอาหาร ซึ่งปัจจัยทั้งหมดรวมกันกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่หาคู่แข่งไหนเหมือนหรือเทียบเคียงได้ยาก ซึ่งผู้บริโภคคนไหนที่ได้รับประสพการณ์แบบนี้แล้ว ก็ยากที่จะปฎิเสธถึงความรู้สึกดีๆที่มีให้กับ Brand นี้ เปรียบเสมือนการซื้อใจด้วยใจก็ว่าได้และการสร้างประสพการณ์นี้จะไม่ประสบผลสำเร็จเลยหากขาดความจริงใจที่นำเสนอออกมาในทุกๆด้าน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจร้านอาหารเลยก็ว่าได้

Preceived Quality
คุณภาพของ Brand S&P นั้นเป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนเพราะในทุกๆกรรมวิธีที่ใช้ทำอาหารตลอดจนในทุกๆรายละเอียดที่มีในร้าน ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นด้วยความพิถีพิถันแล้วความตั้งใจอย่างที่สุด สังเกตได้จากการขยายสาขาไปเปิดที่ต่างประเทศนั้นก็มิได้ทำเพียงการขายกิจการไปเฉยๆ แต่กลับเป็นการเข้าไปดำเนินการธุจกิจด้วยตนเองด้วยเหตุผลเพื่อต้องการที่จะควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการให้เป็นระดับเดียวกันทั้งหมด และไม่เพียงแค่ลูกค้าเท่านั้น แต่พนักงานเองก็เช่นกัน ทางบริษัทเองได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการพนักงานที่เก่ง หรือมีประสพการณ์จากที่อื่นมาอย่างมากมาย แต่ทางบริษัทเองต้องการคนที่มีใจที่รักการบริการเป็นหลัก โดยเชื่อว่าฝีมือการทำอาหารนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสอนกันได้ นอกเหนือจากนั้นยังมีโครงการนำพนักงานไปฝึกอบการสมาธิ เป็นต้น โดยทางบริษัทเองเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกับการทำงานในระยะยาวทั้งสิ้น และด้วยความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด แม้จะเล็กน้อยเพียงใดนี้เอง ที่ทำให้คุณภาพของ S&P นั้นเป็นที่ยอมรับไม่แม้แต่คนไทยเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งในระดับโลกด้วย



Brand Association
Brand S&P นั้น แม้จะเป็น Brand ที่มีสินค้าแยกย่อยอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอาหาร สินค้า Bakery สินค้าอาหารแช่แข็ง หรืออื่นๆอีกมากมาย แต่ความเป็นตัวตนของ S&P นั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันแรกที่ ร้าน S&P แห่งแรกได้ถูกตั้งขึ้น จนถึงปัจจุบันที่เป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่โต แต่ปรัชญาที่ได้รับการถ่ายทอดมานั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือการใส่ใจในคุณภาพในทุกๆขั้นตอนตั้งแต่ผลิตไปจนถึงการส่งสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการสื่อสารต่างๆผ่านจุดสัมผัสที่มีต่อผู้บริโภค ซึ่งเมื่อผู้บริโภคได้รับความรู้สึกเหล่านี้แล้ว ก็ก่อเกิดเป็นความรู้สึกดีที่มีกับ Brand ส่งผลให้ เกิดความรู้สึกอยากกลับมาอีกครั้งและอีกครั้ง ตลอดจนอยากบอกต่อถึงความรู้สึกดีๆที่ได้รับมานั้นให้กับคนใกล้ชิดต่อๆไป

การคุ้มครอง Brand ผ่านกฎหมาย (IP Protection)

Brand S&P นั้นมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผ่านกฎหมายมากมาย เพราะ S&P นั้นมีการทำการตลาดทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ จึงทำให้เรื่องของ IP Protection นั้นยิ่งต้องรัดกุมมากขึ้น เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ หรือการนำไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต โดยการคุ้มครองนั้นก็มีตั้งแต่เรื่องของ Logo ไปจนถึงเรื่องของ Menu อาหารบางอย่างที่ได้รับการคิดค้นขึ้นใหม่โดย S&P เอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้แม้จะมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่หากมองข้ามไปแล้วเกิดมีคนนำไปทำการลอกเลียนแบบขึ้นมา ผลเสียที่มีต่อ Brand นั้นมากมายมหาศาลนัก เพราะ Brand S&P เองเป็น Brand ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ และการบริการเป็นหลัก ดังนั้น การคุ้มครองทางกฎหมายนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับธุรกิจนี้
“แรงผลักดันความสำเร็จในการสร้างคุณค่าของ Brand ไทย”
หากพูดถึง Brand ไทยที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกนั้น อาจมีจำนวนอยู่มากพอสมควร แต่หากพูดถึง Brand ไทยในธุรกิจอาหารที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกนั้น ชื่อ S&P คงจะติดอันดับต้นๆอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จนี้นั้น มีทั้งสิ้น 6 ประเด็น ดังนี้

คุณภาพของการบริการ
ถือว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับธุรกิจร้านอาหารกับการบริการ และในจุดนี้นั้น S&P ทำได้อย่างยอดเยี่ยมผ่านการบริการของพนักงาน ซึ่งในจุดนี้นั้น หากพนักงานสามารถให้บริการได้อย่างน่าประทับใจแล้ว การที่ผู้บริโภคจะรู้สึกดีกับ Brand ก็มีสูง และก่อให้เกิดการกลับมาใช้บริการอีกครั้งตามมา

คุณภาพของอาหาร
นับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานเลยสำหรับการทำธุรกิจร้านอาหาร เพราะถ้าร้านอาหารทำอาหารไม่อร่อย ก็ไม่มีผู้บริโภคคนไหนอยากกลับมากินอีก ตรงกันข้ามกัน หากอาหารนั้นมีคุณภาพดี แม้ราคาจะออกมาสูง ผู้บริโภคก็ยินดีที่จะจ่าย เพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุด และในจุดนี้เองที่ S&P ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก



ความเป็นไทย
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับร้านอาหารไทยนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าคือความเป็นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านที่มีการทำการตลาดโดยการขยายสาขาไปสู่ต่างประเทศด้วยแล้ว การสื่อสารถึงความเป็นไทยนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง แต่ความเป็นไทยของ S&P นั้นไม่ได้เป็นความเป็นไทยโบราณ แต่กลับเป็นความเป็นไทยประยุกต์ หรือไทยร่วมสมัย สังเกตได้จากเมนูอาหารต่างๆที่ได้รับการดัดแปลงให้แตกต่างไปจากอาหารไทยทั่วไป ไปจนถึงการจัดตกแต่งร้านต่างๆ

การเอาใจใส่ด้วยตนเอง
ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้นั้น อยู่ที่ผู้ที่เป็นเจ้าของเป็นสำคัญ และในจุดนี้เองที่ S&P ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแม้จะมีร้านอาหารมากมายในหลายประเทศ แต่ทางบริษัทเองไม่ได้มีการขายกิจการออกไปแต่อย่างใด แต่ทุกๆกิจการที่ขยายออกไปนั้นกลับเป็นกิจการที่ทางบริษัทเข้าไปทำการตลาดเองทั้งหมด นอกเหนือจากนั้นแล้ว การฝึกอบรมพนักงานทุกขั้นตอน เจ้าของบริษัทเองก็จะเข้ามาควบคุมดูแลทั้งหมดทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นปัจจัยที่ทำให้งานออกมาด้วยคุณภาพล้วนๆ

การสร้างอารมณ์ร่วม
ปฎิเสธไม่ได้เลยในปัจจุบันว่านอกเหนือจากอาหารแล้ว การสร้างอารมณ์ร่วมผ่านจุดสัมผัสต่างๆในร้านก็สำคัญไม่แพ้กัน โดย S&P นั้นก็ได้สร้างอารมณ์ร่วมทั้งหมดผ่านปัจจัยต่างๆภายในร้าน ดังเช่น การตกต่างร้านด้วยรูปอาหารต่างๆ ตำแหน่งการจัดวางโต๊ะ เครื่องแบบของพนักงาน รวมไปถึงแสงไฟที่ถูกใช้ภายในร้าน ทั้งหมดรวมส่งผลต่อความรู้สึกของผู้บริโภคแทบทั้งสิ้น

ความหลากหลาย
ด้วยความหลากหลายของรูปแบบสินค้าของ S&P นี่เอง ที่ช่วยให้ Brand นี้ประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะร้านเองไม่ได้ขายเพียงแค่อาหารเพียงเท่านั้น แต่ S&P ขายทั้งเบเกอรี่ต่างๆ ทั้งเค้ก คุ๊กกี้ ชา กาแฟ ไปจนถึงอาหารแช่แข็ง ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่แสดงถึงความเป็น S&P ออกมาได้อย่างโดดเด่น เพราะเป็นความหลากหลายที่หาจากร้านอาหารอื่นได้ยาก จึงเป็นจุดเด่นอีกจุดที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Brand S&P ได้เป็นอย่างดี



ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้จะขาดไม่ได้เลย ก็คือ การมีใจรักในสิ่งที่ทำ หรือก็คือ ทำในสิ่งที่รัก สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สิ่งที่ทำจะประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็นเลย และความสำเร็จนี้นั้น Brand S&P คงได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างไร้ข้อกังขาไปแล้วนั้นเอง

จัดทำโดย

1. ภากรกฤช ขันทปราบ 1500321003

2. สุภาภรณ์ อินพระราม 1500321102

3. ภาสินี ก้านจักร 1500321136

4. ขวัญชนก ใจเสงี่ยม 1500326457

5. ชญาดา สังข์ทอง 1500327059